ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน
ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. ๒๕๔๗ |
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกระเบียบนี้ไว้ ดังต่อไปนี้ ขอ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. ๒๕๔๗” ขอ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิก (๑) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๑ (๒) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ (๓) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๒ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือหนังสือสั่งการอื่นใดในส่วนที่มีกำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน ขอ ๔ ในระเบียบนี้ “อปพร.” หมายความว่า อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน “ศูนย์ อปพร.” หมายความว่า ศูนย์ อปพร.กลาง ศูนย์ อปพร.เขต ศูนย์ อปพร.จังหวัด ศูนย์ อปพร.อำเภอ ศูนย์ อปพร.กิ่งอำเภอ ศูนย์ อปพร.เทศบาล ศูนย์ อปพร.องค์การบริหารส่วนตำบล ศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานคร ศูนย์ อปพร.เขตในกรุงเทพมหานคร และศูนย์ อปพร.เมืองพัทยา ข้อ ๕ ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความวินิจฉัยปัญหา กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ หมวด ๑ สมาชิก อปพร. และการฝึกอบรม ข้อ ๖ สมาชิก อปพร. ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (๑) มีสัญชาติไทย (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ (๓) มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในเขตศูนย์ อปพร. นั้น (๔) เลื่อมใสการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (๕) ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร อปพร. (๖) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพ หรือวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ (๗) ไม่เป็นพระภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช (๘) ไม่เป็นผู้เสื่อมเสียในทางศีลธรรม ในทางทุจริต หรือเป็นภัยต่อสังคม ทั้งนี้ ให้นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้อำนวยการเขตในกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยาเป็นผู้รับสมัครสมาชิก อปพร. ข้อ ๗ สมาชิก อปพร. พ้นจากสมาชิกภาพเมื่อ (๑) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ ๖ (๒) ตาย (๓) ลาออก (๔) ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. สั่งให้พ้นจากสมาชิกภาพเพราะกระทำผิดวินัย หรือประพฤติตนไม่เหมาะสม ข้อ ๘ การฝึกอบรม อปพร. หลักสูตรการฝึกอบรม อปพร. ระยะเวลาการฝึกอบรม และสิทธิในการรับวุฒิบัตร ให้เป็นไปตามรายละเอียดแนบท้ายระเบียบนี้ สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมเพิ่มทักษะอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่ศูนย์ อปพร.กลาง กำหนด ข้อ ๙ ให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จัดให้มีการฝึกอบรม อปพร. ตามหลักสูตรที่กำหนดในข้อ ๘ ข้อ ๑๐ ให้นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้อำนวยการเขตในกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา จัดทำทะเบียนและประวัติของสมาชิก อปพร. ตามแบบที่ศูนย์ อปพร.กลางกำหนด และแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นปัจจุบัน กรณีสมาชิก อปพร. ผู้ใดมีความประสงค์จะย้ายไปสังกัดศูนย์ อปพร. อื่น เนื่องจากย้ายภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ ให้ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. ต้นสังกัดแจ้งเป็นหนังสือ พร้อมส่งทะเบียนประวัติของสมาชิก อปพร. ผู้นั้นไปยังผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. สังกัดใหม่ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนให้เป็นปัจจุบัน ให้สมาชิก อปพร. ผู้นั้นไปรายงานตัวต่อผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. สังกัดใหม่ และให้ศูนย์ อปพร. นั้น เรียกบัตรประจำตัวเดิมคืน และออกบัตรประจำตัวใหม่ให้ หมวด ๒ คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ อปพร. ข้อ ๑๑ ให้มีคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ อปพร.กลาง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ปลัดกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินแปดคน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้ง เป็นกรรมการ ให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ข้อ ๑๒ ให้คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ อปพร.กลาง มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารกิจการ อปพร. ทั่วราชอาณาจักร (๒) เสนอแนวทางมาตรการเกี่ยวกับกิจการ อปพร. ให้ศูนย์ อปพร. ถือปฏิบัติ (๓) กำกับ ดูแล และสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ อปพร. ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ข้อ ๑๓ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่ประธานกรรมการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้น ในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน หรือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เพิ่มขึ้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลือ เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ ข้อ ๑๔ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระข้อ ๑๓ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) เป็นบุคคลล้มละลาย (๔) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ (๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ข้อ ๑๕ การประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ อปพร.กลาง ต้องมีกรรมการ มาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั่งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคราวใดถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมสำหรับการประชุมคราวนั้น การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ข้อ ๑๖ คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ อปพร.กลาง อาจตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่มอบหมายก็ได้ การประชุมคณะอนุกรรมการให้นำข้อ ๑๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๗ ให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ อปพร.จังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นรองประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้องหรือผู้แทน ผู้แทนศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขตพื้นที่ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัดไม่เกินสามคน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ ให้หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ ข้อ ๑๘ คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ อปพร.จังหวัด มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ (๑) กำหนดยุทธศาสตร์ และแนวทางการดำเนินงานกิจการ อปพร. ให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ อปพร.กลาง กำหนด (๒) ให้การสนับสนุนส่งเสริมและกำกับดูแลการดำเนินงานของศูนย์ อปพร. ภายในเขตจังหวัด ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย (๓) กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการดำเนินงานที่เกี่ยวกับกิจการ อปพร.ที่ไม่ขัดหรือแย้งกับที่ศูนย์ อปพร.กลาง กำหนด ข้อ ๑๙ ให้กรุงเทพมหานคร แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นรองประธานกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่เกินสามคน โดยมีผู้แทนจากองค์กรสาธารณประโยชน์ในเขตกรุงเทพมหานครรวมอยู่ด้วย เป็นกรรมการ ให้ผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ ข้อ ๒๐ ให้คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ ๑๘ ภายในเขตกรุงเทพมหานคร ข้อ ๒๑ ให้นำความในข้อ ๑๓ ข้อ ๑๔ และข้อ ๑๕ มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ อปพร.จังหวัด และศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานคร โดยอนุโลม หมวด ๓ การจัดหน่วยอาสาสมัคร และการปกครองบังคับบัญชา ข้อ ๒๒ ให้ผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแห่งราชอาณาจักร เป็น ผู้บัญชาการศูนย์ อปพร.กลาง รองผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแห่งราชอาณาจักร เป็นรองผู้บัญชาการศูนย์ อปพร.กลาง รับผิดชอบในการปกครองบังคับบัญชา และกำกับดูแลผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ อปพร. และสมาชิก อปพร. ทั่วราชอาณาจักร ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นศูนย์ อปพร.กลาง และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.กลาง รับผิดชอบในการปกครองบังคับบัญชา และกำกับดูแลสมาชิก อปพร.ทั่วราชอาณาจักร โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.กลาง อาจแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ได้ ข้อ ๒๓ ให้ศูนย์ อปพร.กลาง มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) ดำเนินงานด้านธุรการของคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ อปพร.กลาง (๒) สนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับการบริหารกิจการ อปพร. (๓) วางระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินงานที่เกี่ยวกับ อปพร. (๔) ศึกษา ค้นคว้า และวิจัยทางด้านวิชาการ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ อปพร. (๕) จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม อปพร. และแผนจัดอัตรากำลังของ อปพร.รวมทั้งพิจารณาทบทวนหรือปรับปรุงหลักสูตรและแผนจัดอัตรากำลัง (๖) จัดให้มีการฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติหลักสูตร อปพร. และหลักสูตรเพิ่มทักษะอื่น ๆ แก่สมาชิก อปพร. (๗) ส่งเสริมให้สมาชิก อปพร. เข้ามามีส่วนร่วมในรูปของคณะกรรมการในหน่วย อปพร. โดยการจัดตั้งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการในหน่วย อปพร. ให้เป็นไปตามที่ศูนย์ อปพร.กลาง กำหนด (๘) ประสานงาน ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของสมาชิก อปพร. ทั่วราชอาณาจักร (๙) ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการอำนวยการ ศูนย์ อปพร. กลาง มอบหมาย ข้อ ๒๔ ให้ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.เขต และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นศูนย์ อปพร.เขต โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ข้อ ๒๕ ให้ผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนจังหวัด เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. จังหวัด และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เป็นศูนย์ อปพร.จังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ข้อ ๒๖ ให้ผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนอำเภอ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.อำเภอ และที่ทำการปกครองอำเภอ เป็นศูนย์ อปพร.อำเภอ โดยมีเจ้าหน้าที่ของที่ทำการปกครองอำเภอ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ กิ่งอำเภอ ให้มีศูนย์ อปพร. โดยให้ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.กิ่งอำเภอ และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับศูนย์ และผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.อำเภอ ข้อ ๒๗ ให้ผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเทศบาล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.เทศบาล และสำนักปลัดเทศบาล เป็นศูนย์ อปพร.เทศบาล โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักปลัดเทศบาล เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ องค์การบริหารส่วนตำบล ให้มีศูนย์ อปพร. โดยให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. องค์การบริหารส่วนตำบล และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับศูนย์ และผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.เทศบาล ข้อ ๒๘ ให้ผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานคร และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานคร โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เขตในกรุงเทพมหานคร ให้มีศูนย์ อปพร. โดยให้ผู้อำนวยการเขตในกรุงเทพมหานคร เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.เขต ในกรุงเทพมหานคร และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับศูนย์ และผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานคร ข้อ ๒๙ ให้ผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเมืองพัทยา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.เมืองพัทยา และสำนักปลัดเมืองพัทยา เป็นศูนย์ อปพร.เมืองพัทยา โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักปลัดเมืองพัทยา เป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ข้อ ๓๐ ให้ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.ตามข้อ ๒๕ ข้อ ๒๖ ข้อ ๒๗ ข้อ ๒๘ และข้อ ๒๙ มีอำนาจหน้าที่ปกครองบังคับบัญชา ควบคุมดูแล และให้การสนับสนุนการดำเนินกิจการ อปพร. ภายในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ และสนับสนุนศูนย์ อปพร. ข้างเคียงในการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และให้ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.ตามข้อดังกล่าวมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ได้ ให้ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. ตามข้อ ๒๔ มีอำนาจหน้าที่สนับสนุนการดำเนินกิจการ อปพร. ภายในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ และสนับสนุนศูนย์ อปพร.ข้างเคียงในการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. มีอำนาจแต่งตั้งรองผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติภารกิจได้ตามที่เห็นสมควร ข้อ ๓๑ ให้ศูนย์ อปพร.เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เขตในกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาจัดตั้งหน่วย อปพร. ดังต่อไปนี้ (๑) ฝ่ายป้องกันและบรรเทาภัย (๒) ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย (๓) ฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย (๔) ฝ่ายอื่น ๆ ตามความจำเป็น ข้อ ๓๒ ให้แต่ละฝ่ายตามข้อ ๓๑ มีหัวหน้าฝ่ายหนึ่งคน รองหัวหน้าฝ่ายสองคน และมีสมาชิก อปพร.ตามความเหมาะสม โดยให้ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เขตในกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา แต่งตั้งหัวหน้าฝ่ายตามข้อ ๓๑ จากเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ หรือสมาชิก อปพร. โดยแต่ละฝ่ายให้มีสมาชิก อปพร.ตามความเหมาะสม ข้อ ๓๓ ให้สมาชิก อปพร.อยู่ในการปกครองบังคับบัญชาของหัวหน้าฝ่าย อปพร. ให้หัวหน้าฝ่ายในศูนย์ อปพร. แต่ละแห่งอยู่ในการปกครองบังคับบัญชาของผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เขตในกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา แล้วแต่กรณี ให้ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล อยู่ในการปกครองบังคับบัญชาของผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.อำเภอ หรือกิ่งอำเภอแล้วแต่กรณี ให้ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. อำเภอ กิ่งอำเภอ เทศบาล เขตในกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา อยู่ในการปกครองบังคับบัญชาของผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.จังหวัด หรือศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี ให้ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.จังหวัด และศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานคร อยู่ในการปกครองบังคับบัญชาของผู้บัญชาการศูนย์ อปพร.กลาง หมวด ๔ สิทธิ และวินัยของ อปพร. ข้อ ๓๔ สมาชิก อปพร.มีสิทธิดังต่อไปนี้ (๑) มีสิทธิแต่งเครื่องแต่งกายและประดับเครื่องหมาย อปพร. (๒) มีสิทธิใช้อาวุธปืนของทางราชการในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร (๓) การปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของสมาชิก อปพร. ตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนและพนักงานป้องกันภัย ได้รับสิทธิและการคุ้มครองตามที่ระเบียบและกฎหมายกำหนด ข้อ ๓๕ สมาชิก อปพร.จะต้องรักษาและปฏิบัติตามวินัยโดยเคร่งครัด ดังต่อไปนี้ (๑) ต้องสนับสนุนและดำรงรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (๒) ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด และสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์ อปพร.ที่ตนสังกัด (๓) ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต อดทน ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยและไม่หวังผลประโยชน์ใด ๆ เป็นการตอบแทน (๔) ต้องรักษาความสามัคคีในหมู่คณะและเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม (๕) ต้องประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี (๖) ต้องไม่เสพสุราของมึนเมาในขณะปฏิบัติภารกิจ (๗) ต้องไม่ใช้กิริยาวาจาที่ไม่สุภาพต่อประชาชน (๘) ต้องไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา (๙) ต้องไม่เปิดเผยความลับทางราชการ (๑๐) ต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบเพื่อตนเอง หรือผู้อื่นจากการปฏิบัติภารกิจ อปพร. สมาชิก อปพร. ผู้ใดกระทำผิดวินัยตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจว่ากล่าวตักเตือนผู้กระทำผิดวินัยได้ กรณีที่เป็นความผิดร้ายแรง ให้ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เขตในกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยาแล้วแต่กรณี สั่งให้สมาชิก อปพร.ผู้กระทำผิดพ้นจากสมาชิกภาพได้ หมวด ๕ หน้าที่และการสั่งใช้ ข้อ ๓๖ สมาชิก อปพร. มีหน้าที่ปฏิบัติการตามคำสั่งของผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และผู้ที่ผู้อำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนมอบหมายในการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหน่วยอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ในการปฏิบัติหน้าที่ให้สมาชิก อปพร. ประดับเครื่องหมาย หรือแต่งเครื่องแต่งกาย อปพร. และแสดงบัตรประจำตัวสมาชิก อปพร. โดยให้รีบไปรายงานตัวต่อผู้บังคับบัญชา หรือพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า ข้อ ๓๗ ให้ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.จังหวัด และศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานคร มีอำนาจสั่งการ อนุมัติ อนุญาต เกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจ และอาจมอบหมายให้ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.อำเภอ กิ่งอำเภอ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา หรือเขตในกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี สั่งอนุมัติ อนุญาต แทนก็ได้ ข้อ ๓๘ เมื่อเห็นเป็นการสมควร ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.อาจสั่งสมาชิก อปพร.ไปปฏิบัติภารกิจนอกเขตรับผิดชอบก็ได้ ถ้าผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.ใกล้เคียงร้องขอ ในกรณีที่มีความจำเป็น ให้ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.จังหวัด หรือศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งการ อนุมัติ หรืออนุญาตให้สมาชิก อปพร.ไปปฏิบัติภารกิจนอกเขตจังหวัด หรือกรุงเทพมหานครได้ ข้อ ๓๙ ในกรณีจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ หรือกรณีที่หัวหน้าฝ่าย อปพร. ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.อำเภอ กิ่งอำเภอ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เขตในกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.จังหวัด หรือศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานครไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองหัวหน้าฝ่าย อปพร. รองผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. อำเภอ กิ่งอำเภอ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เขตในกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา รองผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.จังหวัด หรือศูนย์ อปพร.กรุงเทพมหานคร เป็นผู้สั่งการ อนุมัติ อนุญาต แทนไปพลางก่อนได้ ข้อ ๔๐ การสั่งการและการรายงานให้กระทำตามลำดับชั้นการบังคับบัญชา เว้นแต่กรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นอาจรายงานผู้บังคับบัญชาเหนือชั้นขึ้นไปได้ แต่ต้องรีบรายงานให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงทราบในทันทีที่สามารถจะกระทำได้ ข้อ ๔๑ สมาชิก อปพร. ที่ปฏิบัติงานดีเด่นเป็นพิเศษ หรือผู้ที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือกิจการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนจนเกิดผลดียิ่ง ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. อาจพิจารณามอบประกาศเกียรติคุณสรรเสริญและเครื่องหมายเชิดชูเกียรติตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์ อปพร.กลาง กำหนด หมวด ๖ เครื่องหมาย บัตรประจำตัว วุฒิบัตร และเครื่องแต่งกาย ข้อ ๔๒ ให้ศูนย์ อปพร.ที่จัดฝึกอบรมจัดทำเครื่องหมาย อปพร. และวุฒิบัตร เพื่อมอบให้แก่สมาชิก อปพร.ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตร อปพร. ตามแบบและขนาดท้ายระเบียบนี้ ข้อ ๔๓ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกบัตรประจำตัว วุฒิบัตร ตามแบบท้ายระเบียบนี้ และที่ศูนย์ อปพร.กลาง กำหนดเพิ่มเติม เพื่อมอบให้แก่สมาชิก อปพร. ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่ กำหนด ข้อ ๔๔ บัตรประจำตัวสมาชิก อปพร. มีอายุสี่ปี เมื่อบัตรประจำตัวชำรุด สูญหาย หมดอายุ หรือมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ เช่น ชื่อตัว ชื่อสกุล ให้สมาชิก อปพร. ยื่นคำร้องตามแบบที่ศูนย์ อปพร. กลางกำหนดต่อผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เขตในกรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดำเนินการออกบัตรประจำตัวใหม่ให้ต่อไป ให้นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้อำนวยการเขตในกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา จัดทำทะเบียนควบคุมบัตรประจำตัวสมาชิก อปพร.ไว้ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ข้อ ๔๕ เครื่องแต่งกายของผู้บัญชาการศูนย์ อปพร. รองผู้บัญชาการศูนย์ อปพร. ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. รองผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ อปพร.คณะกรรมการ อปพร. จังหวัด และคณะกรรมการ อปพร.กรุงเทพมหานคร ครูฝึก วิทยากร และสมาชิก อปพร. ให้เป็นไปตามรูปแบบท้ายระเบียบนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ โภคิน พลกุล (นายโภคิน พลกุล) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย |